top of page

การรับรู้ อารมณ์ และ การตัดสินใจ 2 (Perceptions, Emotion and Decision Making 2)


ตอนที่แล้วเราพูดถึงการรับรู้อย่างรวดเร็วเพื่อความอยู่รอด เพราะเรื่องนี้จำเป็นต้องแยกออกให้ชัดเจน เพราะเรื่องของการบริหารอารมณ์จะเป็นอีกชั้นหนึ่งต่อการตอบสนองต่ออาการทางกายในเบื้องต้น ที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องความเป็นความตาย ถ้าเราไม่ได้ฝึกการรับรู้ เราจะเหมารวมกันไปทำให้เกิดเกิดความกลัว (Fear) ซึ่งเป็นอารมณ์พื้นฐานในการอยู่รอดเข้ามาเป็นใหญ่ เมื่อกลัวมาเข้าก็เป็น ความวิตกกังวล (Anxiety) และกลัวแม้กระทั่งจะกล้าเปิดรับความรู้สึกอื่นๆ ของตนเอง

พูดมาถึงตอนนี้อยากให้สบายใจได้เลยว่า ในโลกปัจจุบันนี้ น้อยนักน้อยหนาที่เราจะต้องกังวลหรือกลัว จากการที่ต้องเอาตัวรอด จากไฟไหม้ป่า จากเสือจะย่องกลางคืน จากอาการหนาว หรือ ต้องแย่งชิงอาหารกับคนเผ่าอื่น หรือเกรงว่าตัวเองจะไม่มีเพื่อนถูกขับไล่ออกจากถ้ำกับชนเผ่าเดียวกัน แต่เรามนุษย์ในยุคดิจิตอล ที่มีที่อยู่หลับนอนอย่างปลอดภัย สบาย (ไม่ต้องพูดถึงเสือ แต่ยุงสักตัวก็ยังไม่ได้มาใกล้) มีอาหารกินอย่างล้นเหลือ (ไม่ต้องพูดถึงการล่า การแย่ง แค่คิดว่จะกินอะไรดีในตู้เย็น หรือจะสั่งดิลิเวอร์รี่จากเจ้าไหนดีก็หนักหนาแล้ว) มีความสัมพันธ์กับคนแบบ non stop กับคนทั่วโลกผ่านโซเซียลมีเดีย (ไม่ต้องพูดถึงว่าจะไม่มีเพื่อน แค่คิดว่าจะเลือกลงแฟลตฟอร์มไหนดี ไม่ว่า จะเป็น เฟสบุ้ค ไอจี ทวิตเตอร์ คลับเฮาส์ ฯลฯ ก็เวียนหัวแล้ว) แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ในโลกโบราณนั้นแล้ว สมองส่วนหนึ่งของเราก็ยังผูกโยงกับเรื่องราวในอดีตนั้นอยู่ เราถึงกลัว และไม่อยากรับรู้อารมณ์ลบๆ นั้น สมองสองส่วนนี้จะทำหน้าที่ในการหลบหลีกความเจ็บปวด และเข้าหาเฉพาะสิ่งบันเทิงใจเท่านั้น (Avoiding Pain and Seeking Pleasure)

ดังนั้นเมื่อเรารู้สึกเชิงลบขึ้นมา และทำให้เกิดอาการทางกายดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้้น เราถึงพยายามที่จะตัดวงจรนั้นออก ด้วยการหลีกหนี หลบเลี่ยงไปก่อน (Avoiding) หรือทำเฉยๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำท่าไม่สนใจ (Ignorance) หรือ อีกส่วนหนึ่งคือทำเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ไปเลยคือคิดแบบตอบสนองสุดขั้ว ทำให้เป็นเรื่องใหญ่มากๆ (Extremely Reactive) คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำอะไรสักอย่าง (Panic Attack) เป็นต้น ดังนั้นในเรื่องของการจัดการอารมณ์ ไม่ได้มีความจำเป็นต้องไปที่การหลบเลี่ยง การทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หรือการตอบสนองทันที เพราะตอนนี้เราไม่ได้อยู่ในภาวะความเป็นความตาย สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ รับรู้อารมณ์ (Awareness) และยอมรับกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น (Acceptance)

ในการรับรู้ซึ่งอารมณ์ดังกล่าว ซึ่งจะมีข้อสังเกตุสามอย่าง คือ หนึ่ง รับรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร ให้อธิบายเป็นคำพูดออกมาให้ได้ก่อน เช่น วิตกกังวล กลัว หรือ เกลียด โกรธ หรือ เสียใจ เศร้า แม้กระทั่งความรู้สึกที่เป็นบวกก็ควรจะฝึกอธิบายและขยายความรู้สึก เช่น รู้สึกดี คือดีแบบไหน ดีใจ ตื่นเต้น ซาบซิ้ง ขอบคุณ ฯลฯ สองให้สังเกตุอาการทางกายประกอบว่าเรารู้สึกทางกายอย่างไร เช่น หนาว ร้อน อึดอัด มองอะไรไม่เห็น มืดมน ดำดิ่ง คอแห้ง คอแน่น คอจุก ปวดมวนที่ท้อง ฯลฯ สาม ให้คอยดูว่าอาการเหล่านี้จะเริ่มต้น อยู่ไป และจบลงอย่างไร และใช้เวลานานไหม นั่นคือถ้าเราจะประมวลความรู้สึกตัวเองได้ต้องมีใจจดจ่อ เพราะบางอาการจะค่อยๆ เป็น แล้วเพิ่มมากขึ้น และลดลงช่วงไหน ถ้าเราเริ่มมีสติตรงนี้เรื่องของอารมณ์ก็เป็นเพียงสิ่งที่อยู่กับเรา และเราก็แค่ทำความรู้จักเขาให้มากขึ้นเท่านั้นเอง


7 views0 comments

Comments


bottom of page