ต่อจากตอนที่แล้วที่เราได้ วิเคราะห์อารมณ์ของคุณแม่ที่มีลูกวัยรุ่นตื่นสาย ในระดับที่สอง ที่ฝึก การรับรู้ตัวกระตุ้นและอาการทางกายและอารมณ์ที่เกิดขึ้น ในตอนนี้จะได้ชวนคุยถึงการบริหารอารมณ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยความตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ จริงๆ ตัวอย่างที่ใช้นี้ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ยากมาก เพราะเป็นเรื่องของคนสองคน ต่างวัย ต่างความคิด และแน่นอนที่สุด คือต่างอารมณ์กันเลยทีเดียว ดังนั้นการที่คุณแม่วัยรุ่น ได้ทำความเข้าใจอารมณ์ตัวเองแล้ว ก็จะต้องถามคุณแม่ต่อว่าแล้วต้องการอะไรจากสถานการณ์นี้ จะอยู่ที่เดิม หงุดหงิด ทะเลาะ อึดอัด หรือ สิ่งที่คุณแม่อยากได้คือ ให้วัยรุ่นรับรู้ว่าคุณแม่เป็นห่วง หรือให้วัยรุ่นรับรู้ว่าเขาควรจัดการชีวิตตัวเอง
กรณีที่หนึ่งถ้าวิเคราะห์แล้ว คุณแม่ไม่ได้รับการตอบสนองตามความต้องการทางอารมณ์จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเหตุการณ์เริ่มตอนหกโมงเช้า ที่คุณแม่เริ่มมีอารมณ์หงุดหงิด สมมติว่าวัยรุ่นตื่นสิบโมงเช้า ก็แปลว่าคุณอยู่กับความหงุดหงิดมากว่า 4 ชั่วโมง ทะเลาะกันอีก 2 ชั่วโมง ก็เที่ยงพอดี ต้องถามต่อว่าคุณแม่อยากรู้สึกอย่างไรในเช้านั้นหรือครึ่งวันนั้น สองทางเลือกหลักคือ 1. เลือกที่จะไปแก้ปัจจัยภายนอกคือเจ้าตัวดีที่ตื่นสาย หรือ 2. เลือกที่จะแก้จากปัจจัยภายในตัวเราคือตัวเรานี่แหละว่าอยากได้อะไร
อะไรตอบสนองได้ง่ายกว่ากันคะ? คำตอบก็จะเริ่มชัดขึ้นว่าการตอบสนองต่ออารมณ์และความต้องการนั้น ต้องเป็นมาจากฝั่งตัวคุณแม่เอง เพราะคุณแม่ไม่สามารถไปทำให้อีกฝ่าย (ที่หลับสบายจนตะวันสายโด่ง) มาทำให้เรารู้สึกดีได้ ดังนั้นถ้าคุณแม่ ไม่อยากอยู่กับอารมณ์ไม่ดีไปครึ่งค่อนวัน คุณแม่ก็ต้องเลือก เลือกอะไรก็ว่ากันไปค่ะ อาจจะเลือกอารมณ์ที่ดี มีพลังและสร้างสรรค์ใช่ไหมคะ กิจกรรมนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากเรื่องของความคาดหวังค่ะ เพราะการที่คุณแม่อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดแต่เช้า และโมโหไปครึ่งวันก็เพราะคุณแม่มีความคาดหวังว่า ลูกวัยรุ่นนั้นจะมาตอบสนองความต้องการและอารมณ์ของเรา แต่หารู้ไม่ว่าเรากำลังไปกำหนด กฎเกณฑ์ปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ ภาวะทางอารมณ์เราถึงไม่สามารถถูกตอบสนองได้
ดังนั้นสรุปได้ว่า ถ้าจะตอบสนองต่อความต้องการทางอารมณ์ของตัวเองคือการ ปรับวิธีคิดและเลือกที่จะคิดและรู้สึกนั่นเองค่ะ การเปลี่ยนความคิดเลยว่าฉันจะเป็นคนไม่หงุดหงิดตอนเช้า จะเป็นคนอารมณ์ดี ง่ายๆ ด้วยการเปลี่ยนความคิด แต่ถ้าไม่ได้ฝึกประจำและทำได้ยากมากในการที่จะเปลี่ยนขั้วทันที (เพราะใจยังอยากให้เจ้าตัวดี ตื่นเข้า) ดังนั้นเราต้องหาปัจจัยภายนอก ที่เป็นตัวกระตุ้นที่ดีให้เราเกิดความรู้สึกดีๆ สดชื่น และสบายใจ เช่น การออกกำลังกาย รับแสงแดด อาหารเช้าอร่อยๆ เพลงสนุกๆ หรือคุยกับคนที่ชอบตื่นแต่เช้าเหมือนเรา ที่สำคัญที่สุด คุณแม่ต้องหลีกเลี่ยงการกลับไปคิดหรือรู้สึกที่ตัวเดิมที่ก่อความ หงุดหงิดและไม่พอใจ
สมมติว่าเมื่อเราจัดการอารมณ์ตัวเองได้แล้ว เราได้หลุดออกจากภาวะหงุดหงิดไปอยู่ในภาวะที่สดชื่น โปร่งสบายแล้ว เรื่องของการแก้ปัญหาวัยรุ่นตื่นสายถึงจะตามมาทีหลัง และหวังว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ไปได้ดีในระยะยาว และได้ผลดีกันทุกคน ใครมีวิธีดีๆ มาแบ่งกันด้วยนะคะ แต่ที่สำคัญสำหรับวันนี้คือ เมื่อคุณแม่ไม่หงุดหงิด ไปครึ่งค่อนวัน คุณแม่จะมีอารมณ์ดีสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ได้เยอะเลยค่ะ สวัสดีค่ะ
Comments