top of page

Sabai Jai Talks


ทุกครั้งที่เปิดเฟสบุ๊คมาเขาก็ถามเราว่า What's on your mind? (คุณกำลังคิดอะไรอยู่? ไม่ใช่อะไรอยู่บนหัวคุณนะเออ) และพอเขียน ๆ ไปเขาก็ถามอีก How are you feeling? (แล้วคุณรู้สึกอย่างไร? เจอบ่อยๆเข้าทําให้คิดถึงเรื่องนี้ทันที ณ ห้องเรียนโรงเรียนหนึ่ง ครู: Good morning everyone, How are you? นักเรียน: I'm fine, thank you, and you? ครู: แอบคิดในใจ Really (จริงหรือเปล่าน้อ?) หลายคนคงมีประสบการณ์นี้ในอดีตในสมัยเป็นนักเรียนในห้องเรียนประถมมัธยมและแม้กระทั่งในระดับอุดมศึกษานี่เป็นสิ่งที่เราถูก จำกัด ในคำศัพท์ที่รู้หรือเป็นแค่คำนี้ที่ได้รับการสอนมาหรือเราอยากพูดมากกว่านี้ แต่เราไม่รู้จะทำอย่างไร? เป็นไปได้หรือที่ทุกคนจะรู้สึกสบายดีได้ปานนั้นและสบายดีทุกวัน ... เอาเป็นว่าตอนนี้เราจะไม่ได้อยู่ในห้องเรียนกันแล้วไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครว่าเราตอบไม่เหมือนเพื่อน ณ เวลานี้แม้ว่าคุณจะกำลังรู้สึกอย่างไรสบายดีสุดหรือโคตรไม่สบายใจเลยเราอยากชวนทุกคนให้มาพูดคุยกันถึงเรื่องของความรู้สึกและอารมณ์กันซะหน่อยพร้อมหรือยังคะไปกันเลย




ความรู้สึก (Feeling) หรือ อารมณ์ (Emotion) นั้นสำคัญไฉน ทำไมในบางวัฒนธรรม ในบางครอบครัวถึงมักมีการพาดพิงถึงอารมณ์อยู่เสมอ แนวๆ ว่า อย่าตัดสินใจด้วยอารมณ์ อย่าเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง อารมณ์พาไป เก็บอารมณ์ไว้หน่อย ฯลฯ วันนี้สบายใจเลย ชวนเพื่อนๆ มาพูดเรื่องอารมณ์กันหน่อยค่ะ และตามสไตล์ง่ายๆ สบายๆ ของสบายใจเลย เราจะขอไม่เป็นทางการหรือวิชาการมากเกินไป เอาแบบพอเชื่อถือได้ก็พอเนอะ ท่านใดมีความรู้เชิงลึก อยากแชร์ ขอเชิญร่วมเติมเต็ม ได้ตามสบายเลยนะคะ

ว่ากันว่า พฤติกรรม (Behavior or Action) ของคนเรา จะมาจากสามสิ่งหลักๆ คือ ความคิด ทัศนคติ และอารมณ์ คนจะตัดสินใจเลือกทำอะไรกับชีวิตตัวเอง (นั่นคือการแสดงออกทางพฤติกรรม) นั้นจะมาจาก 2 ปัจจัยหลักที่เรียนกว่าเป็นปัจจัยภายนอก นั่นคือ ปัจจัยส่วนที่มาจากข้อมูล (Information factor) เช่น การเห็น ฟัง อ่าน ดู แล้วเราๆ ท่านๆ ก็จะอ้างอิงถึงแหล่งข้อมูลนี้แหละว่า ฉันได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็น มาจากไหน ในมุมมองนี้คือเรายึดข้อมูลคือสรณะ และปัจจัยภายนอกอีกส่วนหนึ่ง ที่มามีผลต่อการตัดสินใจคือปัจจัยจากสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ (Contextual factor) ไม่ว่าจะเป็น คู่รัก ครอบครัว เพื่อนสนิท เพื่อนที่โรงเรียน ที่ทำงาน ชุมชน การเมือง ศาสนา ในมุมมองนี้คือ เรายึดสังคมเป็นที่ตั้ง


แต่ทั้งสองปัจจัยนี้ก็จะถูกหล่อหลอม รวมเข้ามาในหนึ่งสมอง และสองมือของเรานี่แหละค่ะ ว่าเราจะคิดหรือทำอะไรหลังจากได้รับเข้ามาแล้ว การประมวลข้อมูลนี้ ลึกลึบ แต่ก็ไม่ซับซ้อนจนเกินไป ที่จะเข้าใจได้ว่า เมื่อนำสองปัจจัยภายนอกเข้ามาในสมอง แล้วเราก็ จะใช้ปัจจัยภายใน (Personal factor) หรือจะเรียกว่าปัจจัยส่วนบุคคลก็ได้ ในการคิด ไตร่ตรอง ตัดสินใจ และปฏิบัติ พูดง่ายๆ เลยว่า บางครั้งจะมีคนถามว่า เพราะอะไร ในการตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง เราก็จะมักจะพูดว่า อย่าถามเลยว่าทำไปเป็นคนอย่างนี้ เกิดมาก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เพราะเราเกือบทุกคนคือถือตัวตนเป็นใหญ่


ในกระบวนการภายในตัวบุคคลนี้ อย่างที่เราได้เรียนรู้มาคือเรามีสมองที่ควบคุมสองด้านเรียกง่ายๆ ว่าสมองฝั่งเหตุผล และสมองฝั่งอารมณ์ การตัดสินใจจะทำอะไรสักอย่าง เราต้องจะมาอยู่ที่จุดนี้เสมอ นั่นคือเราจะพยายามเอาข้อมูล เอาสังคม เอาตัวตน มาชั่งน้ำหนัก ว่าน้ำหนัก ความเป็นเหตุเป็นผลของข้อมูล น้ำหนักของสังคมพ่อแม่ พี่น้อง ครู ฯลฯ เป็นอย่างไร (ฝั่งซ้าย) และเราก็มาสานต่ออีกว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้ว เราจะเกิดความรู้สึกเช่นไร (ฝั่งขวา) ตัวอย่าง เช่น ถ้าเราไม่เรียนต่อในระดับปริญญาตรี จะเป็นอย่างไร ในสมองฝั่งเหตุผลเราก็จะดึงเอาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่า จะเป็น สถิติคนไม่เรียนต่อ คนตกงาน เงินเดือน ความรู้ สถานะทางสังคม และการยอมรับของคนที่บ้าน โรงเรียนหรือสังคม เข้ามาเกี่ยวข้อง ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร (โกรธหรือผิดหวัง - ยอมรับหรือสนับสนุน) และเรารู้สึกอย่างไร (เสียดายหรือเสียใจ -เข้าใจหรือมีกำลังใจ) จะเห็นว่า ตัวอย่างที่สบายใจเลย ยกตัวอย่างมานี้จะมีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง ว่าเราจะพยายามจะหาสมดุลย์ และดูง่ายต่อการปฏิบัติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับวัยรุ่นบางคน เพราะเขาไม่รู้ว่าเขาควรจะแคร์ความรู้สึกของตัวเอง หรือของครอบครัว หรือจะเชื่อเรืองข้อมูล ข่าวสารที่ได้รับรู้มา และเมื่อมันเป็นเรื่องยากมาก ถึงยากที่สุด สำหรับบางคน เราถึงจะชวนกันมาทำเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่ายๆ กันดีกว่า


เรามาพูดถึงผลที่เกิดขึ้น จากการไม่พูดถึงอารมณ์และความรู้สึกกันดีกว่า ว่ามีผลเป็นอย่างไรได้บ้าง ในกรณีนี้ก็อาจเป็นไปได้ว่า โอเคดี เรียบร้อยมาก เช่น เป็นเด็กดี เป็นครอบครัวที่น่ารัก เป็นโรงเรียนหรือสังคมที่ดูเหมือนจะจัดการได้ (ซึ่งถ้าเป็นไปอย่างนั้นจริงๆ คือดีงาม ทุกคน ได้รับการตอบสนองทางอารมณ์ ได้แสดงออกอย่างเป็นจริง) แต่...ถ้าสิ่งนั้นเป็นเพียงสิ่งที่เห็นจากภายนอก ในขณะที่ภายใน ครอบครัวอาจรู้สึกอึดอัด นักเรียนอาจรู้สึกเก็บกด สังคมที่อาจรู้สึกถูกปิดกั้น แต่ไม่กล้าแสดงอารมณ์ เก็บไว้นานเข้า จะกลับกลายเป็นอะไรที่มีพลัง และมีความเสี่ยงสูง ในการเกิดอันตราย และความเสียหายได้มาก (ถ้าเป็นอารมณ์เชิงลบ ชนิดแรง เช่น ความโกรธ เกลียด ไม่เห็นด้วย ไม่ชอบหน้า ฯลฯ ชนิดเก็บกด ถดถอย เช่น น้อยใจ หดหู่ เสียใจ ซึมเศร้า กลัว ฯลฯ ชนิดพูดไม่ออกบอกไม่ถูก เช่น เครียด กังวล ว้าวุ่นใจ ไม่สงบ ฯลฯ )

​ดังนั้นเราจึงต้องหาจุดสมดุลย์ให้เจอว่า เท่าไหร่ เมื่อไหร่ที่เรา ควรจะให้โอกาสกับอารมณ์กับความรู้สึกเราบ้าง เราไม่จำเป็นต้องยกให้ฝั่งเหตุและผล เสมอไป อารมณ์เป็นอีกหนึ่งอาวุธ ความฉลาดที่ติดมากับสมองคนเรา จึงควรใช้มันให้เป็นประโยชน์ หนึ่งในวิธีการใช้มันให้เป็นประโยชน์คือการพูดถึงมันอย่างเปิดเผย และถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา วิธีการนี้ในวงการจิตวิทยาเด็ก มีการเสนอแนะให้นำมาใช้กันให้มากๆ เช่น ในกรณีเด็กอ่อน เมื่อเด็กร้องไห้ เราคาดเดาได้ว่าเขาอาจจะรู้สึกหิว ไม่สบายตัว ต้องการความรัก ในเมื่อเด็กพูดไม่ได้ เราก็สังเกตุจาก จากอาการภายนอกของเขา (มีร้องไห้หลายแบบด้วยนะคะ อันนี้ก็พูดกันได้อีกยาว เดี๋ยวค่อยว่ากัน) แล้วก็แก้ไปตามสถานการณ์ เช่น ให้นม เปลียนผ้าอ้อม หรือไม่ก็อุ้ม ปลอบ อีกตัวอย่างที่ ซับซ้อนขึ้นมาอีกก็จะเป็นเด็กในวัยประถม สมมติว่ามีเด็กหนึ่งที่โรงเรียนมักจะรื้อข้าวของที่ห้องเรียนให้กระจุยกระจาย ก็จะต้องมีการพูดคุยให้เด็กน้อย เผยความรู้สึกที่แท้จริงออกมาให้ได้ เช่น หนูรู้สึกอะไร เขาอาจจะรู้สึก สนุก โกรธหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วก็จะไล่กลับไปว่าเขารู้สึกสนุกเพราะว่าอะไร เขาอาจรู้สึกดี ที่ได้รับความสนใจก็ได้ หรือถ้าเขารู้สึกโกรธ เพราะอะไรที่โกรธก็อาจพบว่ามีคนมาแย่งหรือมากวน ในขณะที่เขากำลังทำอะไรอยู่ก็เป็นได้ แล้วก็ไล่ต่อไปถึงปัญหาต้นสาย เพื่อแก้ไขกันต่อไป การยกตัวอย่างของเด็กๆ จะทำให้เราผู้ใหญ่มองเห็นว่า แหม ง่ายดีจัง แค่หยุด รับฟัง แล้วก็แก้ไปทีละเปลอะแค่นั้นเอง สบายบรื๋อ (แต่ลองเข้าไปพูดคุยในห้องพ่อแม่มือใหม่กันค่ะ ก็ไม่ได้ง่ายเสียทีเดียว อันนี้ก็จะได้พูดกันอีกยาว)


แต่ในความเป็นจริงของชีวิตความเป็นวัยรุ่น และผู้ใหญ่แล้วมันไม่ได้ง่ายแค่นั้นซิ เรามักจะทำอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น จนไม่สามารถไล่ย้อนกลับไปที่ต้นสายได้ (Cause) เจอแต่ปลายเหตุ (Result) เพราะอะไร? เพราะเราพยายามเกินไปที่่จะทำตามคำสั่งสอนที่เคยได้ยินมาตามที่พูดไว้ในตอนต้น นั้นเอง ทางออกคือ เราต้องพยายามฝึก การใช้สมองส่วนอารมณ์ให้อยู่ในภาวะที่แข็งแรง และเป็นปกติ นั่นคือไม่มากไป (จนกลายเป็นไบโพลาร์ วันละ 10 รอบ ก็คงไม่ไหว) ไม่น้อยเกินไป (จนกลายเป็นคนเฉยชา ไม่มีความรู้สึก กลายเป็นหุ่นยนต์ ยิ่งกว่าเอไอ)

แล้วเราจะฝึกกันอย่างไรก็จะมาชวนกันคุยนี่แหละค่ะ ว่าอารมณ์เราอยู่ประมาณไหนบ้างในแต่ละวัน เชื่อหรือไม่ว่าคนเราไม่ว่าจะมาจากชาติไหน พูดภาษาอะไร วัยไหน เพศไหนก็ตามแต่ บางครั้งเรา เทียบไม่ต้องให้เขาบอก แค่เราสังเกตุ ก็จะเห็นได้ว่าเขารู้สึกอย่างไร เราจะเห็นได้จากภาษากาย เช่น สีหน้า ท่าทาง อาการ เสียง การหายใจ หรือ กลิ่น (มนุษย์ปล่อยกลิ่นเมื่อโกรธ เหมือนกับสกังค์ไหม?) โดยสบายใจเลยจะขอนำเสนอเรื่องนี้ให้มันเป็นเรื่องสนุกๆ ง่ายๆ แถมด้วยสาระบ้าง นั้นคือ เรามาช่วยกันแบ่งปันประสบการณ์ แง่คิดต่างๆ กันดีกว่า อะไรเป็นสาเหตุ ว่าเราจะเกิด อารมณ์นั้นๆ เมื่อไหร่ ถ้ามันดีก็จะต้องหาสาเหตุกระตุ้น (Triggers) ให้เจอ เพราะอารมณ์ที่ดีๆ จะมีพลังในการสร้างสรรค์มหาศาลเลยทีเดียว แต่ถ้าถ้าเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี เราก็จะไม่หนีกันค่ะ แต่เราก็จะใช้พลังลบไปในทางที่ดีได้ไหม? หรือจะปรับให้เป็นกลางๆ ไปก่อน? หรือจะกระชากให้เป็นไปทางตรงข้ามเลย?

ไม่ว่าจะอะไรก็แล้ว แต่เรามาร่วมกันสรรค์สร้างอารมณ์ดี ให้มีความสุข อย่างมีสติ และอย่าง สบายใจกันดีกว่า รอติดตามตอนต่อๆ ไปได้เลยนะคะ

7 views0 comments

Comments


bottom of page