top of page

หนึ่งหน้า...น่าอ่าน: มุมมองของรัก (Love's perceptions)

ต่อเนื่องจากการเขียนเรื่องประวัติของวันแห่งความรัก ท่านผู้อ่านเคยสงสัยไหมว่าแล้วจริงๆ แล้วความรักคืออะไร? แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า อะไรคือรักแบบไหน? วันนี้เรามาใส่แว่นตาเพื่อมองความรักในมุมมองที่แตกต่างกันออกไปค่ะ


“รัก” ตามนิยามที่ค้นพบในพจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2554 ฉบับออนไลน์ (https://dictionary.orst.go.th/, สืบค้นเมื่อ 14 ก.พ. 65) ได้ให้ความหมายไว้ 2 หมวดหลัก อันแรกคือคำนามพูดถึงต้นไม้ที่ชื่อว่าต้นรัก ส่วนหมวดที่เป็นกริยา ความรู้สึก มีนิยามดังนี้ค่ะ

รักคือ “มีใจผูกพันด้วยความห่วงใย เช่น พ่อแม่รักลูก รักชาติ รักชื่อเสียง, มีใจผูกพันด้วยความเสน่หา, มีใจผูกพันฉันชู้สาว, เช่น ชายรักหญิง, ชอบ เช่น รักสนุก รักสงบ” ในพจนานุกรมยังมีการให้ความหมายของ ลูกคำของคำว่า รัก ไว้ดังนี้ค่ะ เช่น “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา, รักพี่เสียดายน้อง, รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ, รักสามเส้า, รักใคร่”


ส่วนนิยามในภาษาอังกฤษในดิกชั่นนารี่ออนไลน์ของกู้เกิ้ล จะแยกออกเป็นคำนาม และกริยา เช่นกัน โดยในคำนาม คือ “(1) an intense feeling of deep affection and (2) a great interest and pleasure in something” แปลความหมายได้ว่า เป็นความรู้สึกหลงไหลและลุ่มหลง และความสนใจ ความสุขต่อบางสิ่ง

ส่วนนิยามความรักที่เป็นกิริยา คือ “(1) feel deep affection for (someone) and (2) Like or enjoy very much” แปลความหมายได้ว่า รู้สึกหลงไหลและลุ่มหลงกับใครบางคน และความชอบ ความสนุกอย่างมาก

ในภาษาอังกฤษ ยังมี มีคำในหมวดที่เป็นการบ่งบอกความรู้สึกรัก ชอบมากมายหลายคำ เช่น คำว่า fondness, tenderness, warmth, intimacy, attachment, endearment, devotion, adoration, doting, worship, passion, ardor, lust, yearning, infatuation, adulation, compassion, care, regard, solicitude, concern, friendliness, friendship, kindness, charity, goodwill, sympathy, kindliness, altruism, philanthropy, humanity, relationship, affair, romance, liaison, intrigue, amour ฯลฯ ดังนั้นคำว่ารักจึง สามารถแปลความหมายโดยรวมได้ว่า เป็นความรู้สึกหลงไหล สนใจ ชอบต่อบางคนและบางสิ่ง และทำให้เกิดความรู้สึกมีความสุข ความสนุกอย่างมาก


หลังจากพูดถึงนิยามที่ให้ไว้ โดยคนสมัยใหม่แล้ว เรามาดูถึงประวัติของความรัก ที่อ้างอิงจากวิกิพีเดีย กันสักหน่อยค่ะ (https://en.wikipedia.org/wiki/Love) พบว่านักปรัชญากรีกโบราณแยกความรักได้ 6 ประเภทได้แก่ ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก (Familial love) ความรักต่อเพื่อนมนุษย์เช่น เพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน (Friendly love, platonic love) ความรักใคร่ของหนุ่มสาว (Romantic love) ความรักที่มีต่อตัวเอง (Self love) ความรักเชิงความสัมพันธ์ที่ต้องการแลกเปลี่ยนกัน (Quest love) และความรักจากเบื้องสูง (Devine love)


เมื่อได้เห็นคำนิยามต่างๆ แล้ว สบายใจเลย อยากเขียนให้เห็นภาพ ให้เข้าใจได้ง่ายๆ และเสริมความคิดเห็นไว้ดังนี้ค่ะ จริงๆ แล้วความรักจะต้องมีต้นกำเนิดและที่มาที่ก่อให้เรามีความรู้สึกนี้ได้ อันแรกจึงคิดว่า เป็นรักจากสิ่งที่มองไม่เห็น นั้นคือ (1) ความรักจากเบื้องบนที่เรารู้สึกว่าเราถูกรักและเราเคารพนับถือ ต่อมาเมื่อเรารู้สึกว่าเราถูกรักเราจะสัมผัสได้ด้วยตัวเองก่อน นั่นคือ (2) ความรักที่เรามีต่อตัวเอง เมื่อเรารู้สึกถูกรัก และรักตัวเองแล้วเราจะสามารถกระจายความรักสู่ คน และสิ่งอื่นๆ ได้ เริ่มจากใกล้ๆ ตัวก่อน เช่น (3) รักภายในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก (4) รักต่อเพื่อนฝูงและเพื่อนบ้าน ต่อมาเมือเรามีสังคม เราก็มีความรักให้กับความสัมพันธ์ต่างๆ เช่น (5) รักต่อองค์กร ครู อาจารย์ ลูกศิษย์ เพื่อนร่วมงาน และ (6) คือความรักใคร่ที่มักจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพศ เป็นต้น


อย่างไรก็ดีที่พูดไว้ใน 1-6 เป็นการขยายความนิยามรักส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ความรักที่มีต่อสิ่งอื่นก็ยังมีอีกหลายประเภท เช่น (7) ความรักต่อสิ่งที่ไม่ใช่คนและเป็นสิ่งที่มองเห็นและจับต้องได้ เช่น ความรักสัตว์ ความรักพืช รักสิ่งของบางอย่าง และ (8) ความรักที่มีต่อสิ่งที่มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้ นั่นคือความรู้สึกรักที่มีให้กับเรื่องราว ความเป็นไป รักที่จะคิด จะอ่าน จะเขียน รักที่จะให้ รักที่จะสนใจ ติดตาม ซี่งความรักนี้ถ้าจะเทียบไปก็เป็นเหมือนความชอบนั่นเอง


เอาล่ะค่ะ ลองเอานิยามต่างๆ วางไว้ก่อน แล้วมาดูมุมมองของคนที่คิดเกี่ยวกับความรักกันบ้างคะ สบายใจเลยได้อ่านบทความหนึ่ง ที่ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน (และเข้าใจว่าคงผู้เขียนท่านนั้นคงจะนำมาจากแหล่งข้อมูลใด ในเว๊บไซด์อีกต่อหนึ่ง) แต่ได้มีการมองความรักได้ผ่านตัวอักษรภาษาอังกฤษ 4 ตัว LOVE ไว้ว่า

L คือ Lake of sorrow ทะเลสาบแห่งความเศร้า, O คือ Ocean of tear ห้วงทะเลแห่งน้ำตา, V คือ Valley of death หุบเขาแห่งความตาย, E คือ End of life จุดจบของชีวิต ที่นำมาแลกเปลี่ยนกันวันนี้ก็เพราะตรงนี้นี่แหละค่ะว่า ไม่ว่านิยามโบราณสมัยเก่าสมัยใหม่จะให้ไว้ว่าอย่างไร สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของคนนั่นเอง อ่านแล้วก็น่าสนใจว่าท่านผู้เขียนท่านนี้คงมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับความรักแน่นอน ถึงสามารถแปลง 4 อักษรง่ายๆ ให้เป็นเรื่องที่เศร้าและน่ากลัวได้ขนาดนั้น


มาดูอีกมุมมองหนึ่งบ้าง ก็พบว่าได้มีผู้เขียนอีกหลายท่านที่นำอักษร 4 ตัว Love มาผสมให้เป็นวลีที่เป็นบวก ได้หลากหลาย เช่น L for Listen การรับฟัง, O for Observe or Over look การสังเกตุหรือการเอาใจใส่, V for Value การให้คุณค่า, E for Embrace การชื่นชม ยินดี, or Encouragement การส่งเสริม สนับสนุนให้กำลังใจ or Empathy การเข้าใจ เห็นใจ เมื่อเกิดการตีความหมายเชิงบวกแล้ว ก็สามารถนำอักษร 4 ตัว LOVE มาทำอะไรได้หลายอย่าง มาแต่งเป็นประโยคที่ทำให้รู้สึกดี เช่น


Love overcome virtually everything ความรักจะทำให้เราก้าวผ่านทุกอย่างได้หมด

Love is let our voice echo ความรักคือ ให้ได้ยินเสียงหัวใจเราที่เรียกร้องออกไป

Love is lots of valuable energy ความรักคือ พลังงานมากมายที่เต็มไปด้วยคุณค่า



ท่านผู้อ่านล่ะคะ มองความรักในแง่ไหน? ส่วนสบายใจเลยนั้น แน่นอนอยู่แล้วค่ะว่า ขอมองความรักในแบบหลังมากกว่า โดยเลือกไว้ 4 คำดังนี้ค่ะ L for Lively มีชีวิตชีวา, O for Opportunity มีโอกาสดีๆ, V for Vibrancy มีสีสัน E for Energetic มีพลัง เพราะเมื่อเรารู้สึกดีกับความรัก เรารู้สึกว่าถูกรัก เรารักตัวเอง เราก็อยากแบ่งปันความรักให้กับทุกคน และรักจะทำให้เราทำได้ทุกอย่าง อยากจะบอกว่า รักนะคะ

39 views0 comments
bottom of page