top of page

หนึ่งหน้า...น่าอ่าน...สิทธิเด็กกับการโพสต์เขาในโซเซียลมีเดีย

ต่อเนื่องจากสิทธิเด็กที่เราพูดถึงกันเมื่อวาน 14 มกราคม 2566 ในวันเด็กแห่งชาติปี 2566 ซึ่งถ้าเด็กและผู้ใหญ่อยู่มาจนถึงการได้อ่านบทความนี้ เชื่อได้ว่าสิทธิข้อที่ 1 สิทธิในการอยู่รอด ถือว่าผ่าน (แต่ก็ไม่แน่ เดี๋ยวนี้เจอในโพสต์บ่อยๆ ว่า #เราต้องรอด บ่อยๆ เดี๋ยวค่อยกลับมาคุยกันประเด็นนี้อีก)


ทีนี้พอตามไปดูสิทธิในการได้รับการปกป้อง การได้รับการพัฒนาและการมีส่วนร่วม ก็ได้มีประเด็นร้อนที่พูดถึงกันบ่อยๆ ในสังคมโซเซียลมีเดีย เช่น เรื่องของการนำความจริงบางอย่างในชีวิตของตัวเองมาแชร์ให้คนได้รับรู้ และส่วนหนึ่ของชีวิตของผู้ใหญ่คนนั้น คือคนที่มีลูกหรือคนที่ต้องดูแลเด็ก (ยังจำนิยามเด็กได้ใช่ไหมคะ? คือตามนิยามของยูเอ็นคือบุคคลที่อายุต่ำกว่า 15 ปี และตามนิยามของยูนิเซฟคือบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี)


เรื่องของเรื่องคือว่า มีผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ก็มีการนำภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว ของเด็กมาแชร์ และเกิดมีการกล่าวถึงและพูดคุยอย่างกว้างขวางว่า อะไรที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม ในเรื่องนี้ ถ้าเราได้อ่านเรื่องสิทธิเด็กที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้แล้ว ก็ค่อนข้างชัดเจน ว่าจริงๆ แล้วผู้ใหญ่ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็กในการได้รับการปกป้องและการมีส่วนร่วม นอกจากการอ้างถึงสิทธิเด็กตามที่ยูนิเซฟได้กล่าวไว้แล้ว เรามาดูว่าในประเทศไทยก็มีกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กอย่างน้อยอีก 2 อย่าง ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 หรือ PDAPA (Personal Data Protection Act)


เราผู้ใหญ่มาทำตัวเป็นต้นแบบที่ดี ด้วยการนำแนวคิด และหลักการดังกล่าวมาสู่การปฏิบัติ ตามแนวทางดังต่อไปนี้ค่ะ ความเหมาะสม ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับ 5 ปัจจัยหลักคือ ใคร ทำอะไร เมื่อไหร่ (กาละ) และที่ไหน (เทศะ) และอย่างไร ภาษาอังกฤษคือ Who, what, when, where and how จำง่ายๆ ว่า 4 Hs and 1 H นั่นเอง



Who, what, when, where and how

ประเด็นแรก โพสต์เกี่ยวกาบใคร ในตอนนี้ก็แน่นอนคือเด็ก ซึ่งถ้าเด็กนั้นเป็นลูก เป็นญาติ หรือคนที่เรารู้จัก ก็อาจจะพอยืดหยุ่นได้ เพราะน่าจะได้มีการพูดคุย ปรึกษาหารือกันระดับหนึ่ง แต่ถ้าเด็กนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเราโดยตรงแล้ว ต้องคิดให้รอบคอบว่าเราจะโพสต์เรื่องเขาไปในนามของใคร?

ประเด็นที่สอง โพสต์เกี่ยวกับเรื่องอะไร การทำกิจกรรมบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟีเจอร์ที่แสดงให้เห็นว่ากำลังถ่ายทอดสด (live) กิจกรรมที่ควรระวังคือความเป็นส่วนตัว เช่น การอาบน้ำ/การเล่นน้ำ ที่อาจจะเกี่ยวกับการถอดเสื้อผ้า/การไม่ได้ใส่เสื้อผ้า ซึ่งถ้าปกติแล้วก็คือเรื่องปกติสำหรับในครอบครัว แต่อย่าลืมว่า มีคนที่ไม่ปกติในสังคมมากมาย ที่หาภาพหรือโอกาสเหล่านี้ในการสะสมหรือการแชร์ต่อในภาพล่อแหลมของเด็ก หรือกิจกรรมบางอย่างที่ดูแล้วน่าตื่นเต้น เช่น การเลียนแบบผู้ใหญ่ในแนวล่อแหลมที่เกี่ยวกับเรื่องทางเพศ การทำกิจกรรมโลดโผน การทำร้ายสิ่งมีชีวิต การสูญเสีย การถูกลงโทษ ความเศร้าโศกการร้องไห้ หรือแม้แต่เรื่องตลกของผู้ใหญ่โดยที่เด็กอาจไม่รู้ว่าเขาเป็นตัวตลก คำถามปิดท้ายเดิมคือเรานำเสนอกิจกรรมนี้ไปเพื่ออะไร?

ประเด็นที่สามและสี่ เมื่อได้พิจารณาว่าใคร ทำอะไรแล้ว ประเด็นต่อว่าคือเรื่องเวลาและสถานที่ เมื่อเด็กต้องการได้รับการดูแลตามความเหมาะสม เรื่องการกิน นอน การศึกษาให้ได้รับความปลอดภัย ถ้ามีการโพสต์เด็กที่ทำอะไรผิดเวลา (เช่น เลยเวลานอนไปมาก) หรือ ผิดสถานที่ (ไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่ปกติ และเวลาที่ไม่เหมาะสมสำหรับวัย) ต้องดูว่าสถานที่และเวลาขณะนั้นมีความปลอดภัยไหม เพราะคนที่ไม่หวังดีและมิจฉาชีพก็มีอยู่ทุกที่ ให้ผู้ใหญ่ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องแสดงให้คนรู้ตลอดเวลาหรือไม่ว่า ห้องนอนเรา ในบริเวณบ้านเรา ที่โรงเรียน ที่เรียนพิเศษ ที่ทำงาน ที่เที่ยวที่กิน หรือไลฟ์สไตล์ เราเป็นอย่างไร? และให้คำนึงถึงว่า กิจกรรมที่โพสต์ออกไปให้มั่นใจว่า ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง หรือสร้างภาพโดยการบังคับ โดยเด็กไม่รู้ตัวหรือยินยอม

ดังนั้นใน 4 ประเด็นแรกคือให้ตั้งคำถามว่า เราโพสต์ไปด้วยความตั้งใจอะไร (What is the real intension and what for) นั่นคือให้ถามตัวเองให้ดีว่า เราโพสต์เรื่องนั้นไปเพื่ออะไร (Why)




สุดท้ายแล้วเราจะโพสต์อย่างไร? (How) คนเราไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างมีเรื่องบางเรื่องในบางช่วงเวลาที่เราเจอกับปัญหา และอุปสรรคส่วนตัว ซึ่งอาจเป็นช่วงที่เขายังต้องการเวลาและการรักษา ทั้งทางด้านกายภาพ และทางด้านจิตใจ เรื่องส่วนตัวด้านกายภาพก็เช่น เรื่องน้ำหนัก ผิวหนัง ผม ฟัน หรือโรคเฉพาะตัวบางอย่างที่อาจจะทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ส่วนเรื่องทางด้านจิตใจ ที่เขาอาจจะประสบอยู่ ณ เวลานั้น เช่น อาจจะเป็นเด็กขี้แย เด็กเซ็นซิทีฟ เด็กขี้โมโห เด็กบูลลี่ ฯลฯ เรื่องราวเหล่านี้ เป็นเรื่องดีที่เหมาะสมหากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลต้องการบันทึกไว้เพื่อดูการพัฒนาการและปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางออก


สบายใจเลยมีคำแนะนำง่ายๆ ว่าทุกครั้งที่เราจะโพสต์อะไรก็แล้วแต่ไปในโลกโซเซียลมีเดียว ให้ถามตัวเองและเด็กก่อนว่า และมั่นใจได้ว่า ไม่เป็นไปในแนว แนวประจาน (Complaining) หรือแนวกล่าวโทษ (Blaming) คนอื่นๆ หรือทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ หรือเป็นที่น่าสงสาร (Self-pity) และวนกลับไปถามตัวเองอีกครั้งว่า เราโพสต์เรื่องนั้นไปเพื่อผลดีอะไรที่จะเกิดต่อตัวเด็กและสังคม? เข้าใจว่าเรารักและเอ็นดูเด็ก ถ้าเราทำให้ถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา และถูกต้อง แล้วเด็กจะขอบคุณเราเมื่อเขาโตขึ้น และเราก็จะได้ไม่รู้สึกผิด และรู้สึกดีในอนาคต จำไว้ว่า เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ใครมีวิธีการโพสต์แนวสร้างสรรค์ ส่งมาให้กำลังใจกันได้นะคะ

16 views0 comments
bottom of page